ภาพยนตร์เรื่อง “Jaws“กำกับโดยสตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับหน้าใหม่แห่งวงการหนังฮอลลีวูดได้เข้าฉายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1975 ซึ่งต่อมา “Jaws” กลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้สปีลเบิร์กจนได้รับฉายาว่า ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวูด’ ที่สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้เพียงแค่เอ่ยปาก แม้ว่าเขาจะเป็นผู้กำกับหน้าใหม่และต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายในการสร้างหนังเรื่องนี้ โชคดีที่เขาสามารถผ่านพ้นความท้าทายเหล่านั้นมาได้ และสร้างผลงานชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงอย่าง “Jaws”
ย้อนกลับไปในปี 1974 สปีลเบิร์กอายุเพียง 28 ปีและได้รับโอกาสให้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Jaws” ซึ่งเป็นผลงานใหญ่เพียงเรื่องที่สองของเขาหลังจาก “The Sugarland Express” ริชาร์ด ซานุก และเดวิด บราวน์ สองโปรดิวเซอร์ที่ประทับใจในฝีมือของสปีลเบิร์กจากภาพยนตร์เรื่องแรกจึงได้ยื่นบทภาพยนตร์ “Jaws” ให้กับเขาอีกครั้ง สปีลเบิร์กเคยกล่าวว่าเมื่อเห็นชื่อภาพยนตร์ครั้งแรกเขายังคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับหมอฟัน “Jaws” ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของปีเตอร์ เบนช์ลีย์ เล่าเรื่องราวของฉลามขาวขนาดมหึมาที่จู่โจมผู้คนบริเวณชายหาดในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง
สปีลเบิร์กคงไม่คาดคิดว่าการทำภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากเสมือนการต่อสู้กับฉลาม เมื่อการสร้างภาพยนตร์พบกับอุปสรรคมากมาย บทภาพยนตร์ฉบับแรกที่เขียนโดยปีเตอร์ เบนช์ลีย์เน้นไปที่ตัวฉลามมากเกินไป สปีลเบิร์กจึงให้ฮาเวิร์ด แซคเลอร์ นักเขียนบทที่ได้รับรางวัลโทนี่และพูลิตเซอร์มาแก้ไขโดยไม่ต้องการเครดิต อย่างไรก็ตามบทที่ได้รับการแก้ไขนั้นยังคงดูมืดหม่นเกินไปและขาดความบันเทิง สปีลเบิร์กจึงได้ดึงคาร์ล ก็อตต์ลิบ นักเขียนบทจากซิตคอม “The Odd Couple” มาช่วยปรับปรุงและขัดเกลาบทใหม่ทั้งหมด
บทภาพยนตร์ของ “Jaws” จึงถูกเขียนไปถ่ายทำไป โดยแต่ละฉากของบทจะเขียนเสร็จหนึ่งคืนก่อนการถ่ายทำวันรุ่งขึ้น หลายฉากยังเป็นการอิมโพรไวส์ของนักแสดงเอง อย่างเช่นประโยคคลาสสิก “You’re gonna need a bigger boat.” ที่รอย ไชเดอร์ นักแสดงนำได้ด้นสดขึ้นมา นักแสดงในภาพยนตร์ยังพบกับปัญหาเนื่องจากไม่มีดาราฮอลลีวูดคนไหนต้องการเล่นหนังเกี่ยวกับฉลามกินคน หลายคนจึงถอนตัวก่อนการถ่ายทำเพียงไม่กี่วัน สปีลเบิร์กมีเพียงรอย ไชเดอร์ที่จะรับบทเป็นมาร์ติน โบรดี้ แต่ยังขาดนักแสดงสำหรับบทควินต์และฮูเปอร์ โชคดีที่ริชาร์ด ไดร์ฟัสส์และโรเบิร์ต ชอว์ที่เคยปฏิเสธบทในตอนต้นกลับเปลี่ยนใจและยอมรับเล่นในนาทีสุดท้าย
การถ่ายทำ “Jaws” เริ่มต้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 1974 ที่เกาะมาร์ธาส์วินยาร์ด เนื่องจากพื้นที่ทะเลในแถบนี้ตื้นซึ่งง่ายต่อการถ่ายทำ แต่ทีมงานต้องพบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ถ่ายทำได้บ้างไม่ได้บ้าง และปัญหาฉลามปลอมที่สร้างขึ้นโดยทีมช่างเทคนิคถึง 40 คนโดยใช้เวลาสร้างนาน 6 เดือน ฉลามปลอมตัวนี้มีความยาวถึง 26 ฟุต (ประมาณ 8 เมตร) สปีลเบิร์กตั้งชื่อมันว่าบรูซตามชื่อทนายความของเขา แต่ในวันแรกที่นำฉลามปลอมเข้าฉาก มันกลับไม่ทำงานและจมดิ่งลงก้นทะเลต่อหน้าทุกคน ริชาร์ด ไดร์ฟัสส์กล่าวถึงสถานการณ์ในกองถ่ายที่เลวร้ายว่า “เราเปิดกล้องถ่ายทำกันแบบไร้สคริปต์ นักแสดงไม่ลงตัว และไม่มีกระทั่งฉลาม”
ในช่วงเวลานั้นต้องบอกเลยว่าเทคนิคคอมพิวเตอร์ยังไม่พัฒนาเหมือนในปัจจุบัน สปีลเบิร์กเป็นผู้กำกับหน้าใหม่จึงต้องพบกับอุปสรรคและปัญหามากมาย หลายคนเสนอให้เขาเปลี่ยนใจไปถ่ายทำในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่เพราะสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่า แต่สปีลเบิร์กปฏิเสธและยืนกรานที่จะถ่ายทำในทะเลต่อไปเพราะเชื่อว่ามันจะทำให้ภาพยนตร์มีความสมจริงมากขึ้น การถ่ายทำดำเนินไปจนถึงฉากสุดท้ายในเดือนตุลาคมซึ่งใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 159 วัน เกินกว่ากำหนดจากเดิม 55 วัน งบประมาณก็บานปลายจาก 4 ล้านเหรียญเป็น 9 ล้านเหรียญ สปีลเบิร์กเคยย้อนความถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า “ผมคิดว่าอาชีพในวงการหนังของผมคงจบสิ้นแล้วละ”
“Jaws” เปิดรอบทดลองฉายครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม 1975 ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในดัลลัส สปีลเบิร์กเล่าถึงปฏิกิริยาของผู้ชมว่า “ผู้ชมพากันกรีดร้องและเขย่าป๊อปคอร์นกระจาย มีคนลุกไปอาเจียนในห้องน้ำด้วย” นั่นเป็นสัญญาณว่าภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ เมื่อภาพยนตร์ฉายจริงในวันที่ 20 มิถุนายน 1975 “Jaws” ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการภาพยนตร์ มันทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 470 ล้านเหรียญทั่วโลกก่อนที่จะถูกทำลายสถิติโดย “Star Wars” ภาพยนตร์ยังทำให้ชายหาดหลายแห่งในซัมเมอร์ปีนั้นเงียบเหงาผิดปกติ เนื่องจากผู้คนหวาดกลัวฉลามจนไม่กล้าลงเล่นน้ำ “Jaws” ยังได้รับรางวัลออสการ์ถึง 3 รางวัล ได้แก่ ลำดับภาพยอดเยี่ยม บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รวมถึงได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นด้วย
ความสำเร็จของ “Jaws” ทำให้สตีเวน สปีลเบิร์กกลายเป็นชื่อที่นักทำหนังทุกคนวิ่งเข้าหา นักวิจารณ์ต่างยกย่องความสามารถของเขาที่สามารถทำให้ผู้ชมหวาดกลัวโดยไม่ต้องแสดงตัวฉลามจริงๆ ในครึ่งแรกของเรื่อง สปีลเบิร์กใช้กล้องถ่ายใต้น้ำแทนสายตาของฉลาม ทำให้ผู้ชมรู้สึกผวาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดนตรีประกอบของจอห์น วิลเลียมส์ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความตื่นเต้นและระทึกใจ ซึ่งกลายเป็นสกอร์คลาสสิกตลอดกาล สปีลเบิร์กยังกล่าวว่าความสำเร็จครึ่งหนึ่งของ “Jaws” ต้องยกเครดิตให้กับวิลเลียมส์ และนับจากนั้นสปีลเบิร์กก็ทำงานร่วมกับวิลเลียมส์ในเกือบทุกเรื่องของเขา
แม้ว่าภาพยนตร์ “Jaws” จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น แต่สปีลเบิร์กก็ยังคงถูกความทรงจำในวันนั้นหลอกหลอนอยู่เสมอ เขากล่าวว่า “ทุกวันนี้ บางคืนผมยังฝันถึงวันที่สี่ในการถ่ายทำ Jaws อยู่เลย และก็คิดว่ายังเหลืออีกตั้ง 146 วันกว่าจะถ่ายทำเสร็จ แล้วผมก็ตื่นขึ้น